ถ้าเราเบื่อกับวิธีการเรียนภาษาแบบ เดิมๆ แล้วยังพูดไม่ได้ วันนี้มีวิธีการเรียนอีกแบบมานำเสนอค่ะ วิธีนี้เป็นวิธีการเรียนภาษาที่เด็กทุกคนใช้ หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ใช้วิธีนี้ในการเรียนรู้ภาษาเมื่อตอนเรายังเป็นเด็ก แต่เราอาจจะจำไม่ได้ หรือนึกไม่ออกว่าเรามีวิธีอย่างไรในการเรียนรู้และพัฒนาภาษาพูดของเรา เพราะเราคิดว่ามันเป็นไปโดยอัตโนมัติซึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อม วิธีนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเรียนภาษาแบบธรรมชาติค่ะ
เมื่อแรก เกิด เด็กยังไม่มีความสามารถในการที่จะสื่อสาร หรือเข้าใจในทุกสิ่งที่คนอื่นๆ เขาพูดกันได้ กว่าจะฟังทุกอย่างรู้เรื่องและเข้าใจว่าเขาพูดถึงอะไร หรืออันนี้หมายความว่าอะไร ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ
ดังนั้นทักษะแรก ทางภาษาที่เด็กได้ก็คือ ทักษะการฟังค่ะ เมื่อได้ทักษะการฟังแล้ว เด็กก็จะพยายามที่จะพูด โดยการเลียนเสียงที่ได้ยิน และเริ่มหัดพูดตาม ในช่วงแรกๆ ก็ยังพูดไม่ได้เป็นประโยค พูดถูกบ้าง ผิดบ้าง เด็กจะเริ่มพูดจากคำสั้นๆ ก่อน และก็ค่อยผสมคำไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง สามารถพูดได้เป็นประโยค จากนั้น เรามาเรียนหลักการใช้ภาษาอย่างถูกต้อง เมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน ซึ่งช่วยให้อ่านหนังสือออก และเขียนหนังสือได้ตามลำดับ
ถ้าหากใครเรียนภาษาที่สองมาเป็นระยะ เวลาหนึ่ง และประสบปัญหาว่า เรียนมาหลายปีแล้วยังใช้ภาษาได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือพูดไม่ได้ ลองมานำวิธีนี้ไปปรับใช้ในการเรียนภาษาดูนะคะ
ขั้นแรก เริ่มจากการฟังค่ะ ให้ฝึกฟังทุกวันอย่างน้อยที่สุด วันละ 1 – 3 ชั่วโมง เพื่อให้เราเคยชินกับสำเนียงของภาษา ในตอนแรกไม่ต้องกังวลค่ะ ว่าเราฟังไม่ออก เราอาจจะฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างก็ไม่เป็นไร (เพราะลักษณะของเด็กในการเรียนภาษานั้น เด็กจะไม่ใช้ความคิดหาเหตุผล เด็กจะใช้วิธีเลียนแบบอย่างเดียวค่ะ) เปิดวิทยุหรือโทรทัศน์ให้เสียงดังพอ เพื่อที่เราจะได้ยินวิธีการพูดของเขาอย่างชัดเจน หรือใครจะใส่หูฟังก็ได้นะคะ ยิ่งดีค่ะ เพราะจะทำให้เราได้ยินการออกเสียงของเขาในแต่ละคำได้ชัดเจนดี
ขณะ ที่ฟังไปนั้น อย่าฟังจนเพลิน ให้สังเกตุวิธีการพูดของเขาด้วยค่ะ ว่าเขาออกเสียงอย่างไร ถ้าดูหนัง ก็ให้สังเกตุวิธีการขยับปากไปด้วย ว่าเขาขยับปากอย่างไร แล้วฝึกขยับปากตาม พึมพัมตามไปก่อนก็ได้นะคะถ้ายังพูดตามไม่ทัน เพราะแต่ละภาษามีทำนองภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกันค่ะ การที่เราพึมพัมตามเขาไป จะทำให้เรารู้จังหวะการพูดของเขาได้ค่ะ การขยับปากตามเป็นการฝึกกล้ามเนื้อที่ริมฝีปากด้วยค่ะ (เป็นการเตรียมพร้อมสู่ทักษะการพูดในขั้นต่อไป) เนื่องจากภาษาแต่ละภาษามีวิธีการออกเสียง และการใช้ตัวอักษรที่แตกต่างกัน ถ้าเราไม่ฝึกตรงนี้ จะทำให้เราพูดภาษาอังกฤษ ด้วยสำเนียงไทยค่ะ เพราะภาษาอังกฤษมีการใช้กล้ามเนื้อริมฝีปากมากกว่าภาษาไทย (สังเกตุว่าในการพูดภาษาไทย ปากของเราจะขยับน้อยกว่าในการออกเสียงคำแต่ละคำในภาษาอังกฤษ) ในภาษาอังกฤษเขาจะมี voice กับ voiceless อย่างเช่น ตัว V (voice) การที่เราจะออกเสียงได้ถูกต้องนั้น เราต้องสังเกตุวิธีการวางตำแหน่งปากและฟันก่อนออกเสียงด้วยนะคะ เพราะในภาษาไทยจะไม่มีการออกเสียงแบบนี้ ถ้าเราวางตำแหน่งผิด เราก็จะออกเสียงได้ไม่เหมือนเขาค่ะ และนั่นก็คือสาเหตุว่า ทำใมพูดไป แล้วเขาไม่เข้าใจเรานั่นเอง จุดเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียวค่ะ
ในขณะที่ฟังให้สังเกตุจังหวะใน การพูด (rhythm), การขึ้นเสียงสูง เสียงต่ำ (intonation), การเน้นคำ (stress) ว่าเขาเน้นในพยางค์ไหน และพยางค์ไหนในคำนั้นที่แทบจะไม่ได้ยินว่าเขาออกเสียง (weak form) หรือถ้าเป็นประโยคยาวๆ ให้สังเกตุว่าคำไหนบ้างในประโยคที่ออกเสียงเน้น, การลากเสียงของคำแต่ละคำที่อยู่ใกล้กัน (connected speech), สังเกตุการออกเสียง s, ed, t , z ที่ท้ายคำว่าเขาออกเสียงอย่างไร เป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือ เลียนแบบทุกอย่างที่ได้ยินมาเลยล่ะค่ะ ถ้าใครมี dictionary แบบอังกฤษ อังกฤษ ก็ยิ่งดีใหญ่ค่ะ ถ้าไม่แน่ใจว่าคำไหนออกเสียงอย่างไร ให้เปิดเช็ควิธีการออกเสียงได้จาก dictionary ประกอบเลยค่ะ เพราะเขาจะบอกวิธีการออกเสียงและพยางค์ไหนที่ต้องเน้นเสียงหนัก
ขั้นที่สอง เมื่อฝึกฟังไปได้สักระยะแล้ว ขั้นต่อไปให้ฝึกทักษะการพูดจากข่าว, เพลง หรือหนัง ที่มี script เขียนประกอบเอาไว้
ครั้งแรกในขณะที่ฟังให้อ่าน script ในใจไปพร้อมๆ กับบทหนังนั้นๆ
ครั้งที่สองขณะอ่าน script ให้ขยับปากตาม
ครั้ง ที่สามให้พูดออกเสียงตาม script ไปพร้อมๆ กับหนัง พยายามพูดเลียนเสียงให้เหมือนที่สุด ทั้งจังหวะการพูด การขึ้นเสียงสูงเสียงต่ำ
การฝึกพูดกับ script นั้น ไม่จำเป็นจะต้องฝึกจากหนังทั้งเรื่อง เลือกเอามาแค่ตอนที่เราชอบสัก 1 ตอนก็ได้ค่ะ ฝึกวันละ 1 ตอน ทำอย่างนี้ซ้ำๆ จนกว่าเราจะเข้าใจวิธีการพูด และการออกเสียง วิธีนี้ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ อย่างถูกวิธี จะช่วยในการเปลี่ยนสำเนียงภาษาได้ด้วยค่ะ การอ่านออกเสียงนั้น ควรจะฝึกอ่านออกเสียงดังๆ ด้วยค่ะ ฝึกทุกวัน อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที การอ่านออกเสียงดัง นอกจากเป็นการฝึกกล้ามเนื้อปากแล้ว ทำให้เราได้ยินเสียงของตัวเอง และเปรียบเทียบกับเสียงของเจ้าของภาษาที่เราได้ยินมา ว่าเราออกเสียงเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับต้นแบบ วิธีนี้จะช่วยให้เราเคยชินกับการพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น และออกเสียงได้ดีขึ้นด้วยค่ะ
การเรียนด้วยวิธีนี้จะทำให้สมองของ เราเกิดการซึมซับเข้าไปโดยอัตโนมัติ เมื่อเราฝึกฟัง และฝึกพูดตามมาได้ระยะหนึ่ง เราจะสังเกตุเห็นว่า เราจะซึมซับหลักการใช้ภาษามาด้วย หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ไวยากรณ์นั่นเองค่ะ เราจะรู้วิธีการใช้ภาษา การใช้ tenses ด้วยวิธีธรรมชาติ (เหมือนกับที่บางคนพูดว่า รู้ว่าตรงนี้ต้องใช้คำนี้ ตรงนี้ใช้อย่างนี้ผิด แต่อธิบายไม่ได้ว่าเพราะอะไร)
สำหรับสื่อที่แนะนำใช้ในการฝึก ตัวผู้เขียนเองไม่ค่อยแนะนำภาพยนตร์ค่ะ แต่จะแนะนำพวกรายการ sitcom ซึ่งน่าจะเห็นผลได้ชัดเจนกว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษมานานเป็นเวลาหลายปี ก็เกิดอยากจะทบทวน เลยไปหยิบ sitcom เรื่องหนึ่งมาดู พอดีสนุกด้วย ก็ดูเพลินเลยทีเดียว พอดูไปเกือบจบ หนึ่งซีซั่น จะรู้สึกได้เลยว่า จะคิดเป็นภาษาอังกฤษ และพูดกับตัวเอง หรือบ่นออกมาเป็นภาษาอังกฤษ มีข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราชอบสไตล์การพูดของใครเป็นพิเศษ ก็ให้เลียนแบบโดยเน้นไปที่คนๆ นั้นเลยค่ะ
ขั้นที่สาม พอเราฝึกมาได้ถึงขั้นนี้แล้ว คราวนี้เราก็ศึกษาหลักไวยากรณ์เพิ่มเติมจากหนังสือ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจหลักไวยากรณ์มากขึ้นและใช้ได้ถูกต้องค่ะ วิธีนี้จะทำให้เราไม่ต้องปวดหัวกับการจำไวยากรณ์อีกต่อไป แต่จะทำให้เราเข้าใจวิธีการใช้ไวยากรณ์ และข้อมูลส่วนนี้สมองจะนำไปเก็บไว้ในความจำระยะยาวค่ะ เพราะการเรียนแบบท่องจำ และหักโหมนั้น สมองของเราจะนำข้อมูลต่างๆ ไปเก็บไว้ในความจำระยะสั้น เพื่อใช้ในการสอบ พอสอบเสร็จ เรียนจบ ก็ลืมหมดค่ะ
ขั้นที่สี่ เมื่อเราฝึกพูดและปรับสำเนียงภาษาอังกฤษได้แล้ว ต่อมาอยากจะอยากพูดเก่ง คือโต้ตอบได้โดยทันควัน ไม่ต้องคิดจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย แล้วกลับไปคิดคำตอบเป็นภาษาอังกฤษอีก อย่าเรียนโดยการฟังแล้วพูดตาม เพราะการฟังแล้วพูดตาม ไม่ได้ทำให้เราพัฒนาทักษะในการพูดโต้ตอบ ให้เรียนด้วยวิธี ฟังแล้วตอบคำถาม วิธีนี้จะทำให้เราคิดได้เร็วขึ้น และพูดภาษาอังกฤษได้คล่องขึ้นด้วยค่ะ
การฝึกตอบคำถามนั้น ในช่วงแรกๆ ที่เรายังพูดไม่คล่อง ไม่จำเป็นต้องรีบตอบเร็วๆ เพราะการรีบพูด อาจจะทำให้เราพูดไม่ชัด ออกเสียงผิด หรือลิ้นพันกันได้ พอเราฝึกไปเรื่อยๆ และพูดได้คล่องขึ้น อีกหน่อยเราก็จะพูดได้เร็วเอง แถมออกเสียงไม่ผิดพลาดด้วยค่ะ
อยากพูดให้ได้เหมือนเจ้าของภาษา อยากใช้ภาษาได้เหมือนเจ้าของภาษา สื่อที่เรานำมาใช้ประกอบการฝึกฝนของเราก็มีส่วนสำคัญค่ะ ให้เลือกแต่ สื่อที่เขาใช้จริงในชีวิตประจำวันเท่านั้น เช่น ฟังวิทยุ ฟังรายการข่าว ดูหนัง อ่านนิตยสารภาษาอังกฤษ (ช่วงนี้ใครที่มีสื่อประเภท หัดพูด ภาษาอังกฤษที่เป็นหนังสือประกอบเทป หรือซีดี ให้เก็บไปก่อนเลยนะคะ เพราะสื่อพวกนี้จะจำลองสถานการณ์มา และอาจจะไม่เหมือนจริงเท่าไหร่ และวิธีการพูดจากในเทป หรือซีดี ก็จะไม่เป็นธรรมชาติ เหมือนอย่างที่ของจริงเขาพูดกัน)
เราอยากพูดได้แบบเจ้าของภาษา เราต้องฟังในสิ่งที่เขาฟัง เราต้องอ่านในสิ่งที่เขาอ่านค่ะ ใครอยากได้สำเนียงอังกฤษ หรืออเมริกัน ก็เลือกกันเอาตามความชอบได้เลยค่ะ
ฝึก ไปเรื่อยๆ นะคะ จะเห็นพัฒนาการของตัวเองขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนระยะเวลาว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของผู้เรียนแต่ละคน และอยู่ที่ความตั้งใจ และระยะเวลาในการฝึกฝนในแต่ละวันค่ะ ยิ่งฝึกมาก ก็เป็นเร็ว ฝึกน้อยก็จะเป็นช้าหน่อย
และสิ่งที่ขาดไม่ได้และสำคัญที่สุด เราจะต้องมีเป้าหมายในการเรียน มีแรงจูงใจ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนและความมั่นใจในตัวเองค่ะ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว เรียนไปไม่นาน ก็เบื่อและเลิกฝึกฝนไปในที่สุด
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นค่ะ ขอให้ทุกคนโชคดีและสนุกกับการเรียนภาษานะคะ
พูดอย่างไรให้เหมือนเจ้าของภาษา
มี หลายๆ คนมีจุดมุ่งหมายว่า อยากจะพูดภาษาอังกฤษให้เหมือนเจ้าของภาษา จริงๆ แล้วอยากจะบอกว่า ถ้าการพูดให้เหมือนเจ้าของภาษา คือพูดสำเนียงแบบเขาล่ะก็ เป็นไปได้ยากค่ะ มีหลายๆ คนเคยใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกมาหลายปี บางคนเป็นสิบๆ ปี บางคนเรียนถึงปริญญาเอก เวลาพูดออกมา ก็ยังไม่ได้สำเนียงเขามาเลย เพราะว่าการพูดเนี่ย มันมีอยู่หลายปัจจัยค่ะที่เป็นอุปสรรค
ประการ แรก อายุของผู้เรียน ถ้าผู้เรียนเริ่มเรียนภาษาที่สองตั้งแต่อายุยังน้อยก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง ที่จะพูดเลียนสำเนียงเจ้าของภาษาได้ใกล้เคียง ที่พูดว่าใกล้เคียงเนี่ย เพราะเขามีการทำการทดลองมาแล้วกับเด็กอายุประมาณห้าขวบ ที่ย้ายไปอยู่ประเทศอเมริกา และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสามสิบกว่าปี ก็ยังมีสำเนียงหรือที่เขาเรียกว่า accent ของภาษาแรกอยู่เลย เพราะว่าระบบภาษาของภาษาแม่มีอิทธิพลต่อการเรียนระบบภาษาของภาษาที่สองค่ะ สำหรับประสบการณ์ที่ได้เจอ และวิเคราะห์มา พบว่า การเริ่มเรียนภาษาที่สอง หรือหัดพูดสักอายุประมาณ 12 ปี ยังมีโอกาสที่จะได้ accent เขามา คือ คนธรรมดาๆ อย่างเราๆ ทั่วไป แยกไม่ออกหรอกค่ะ ว่าเขามี accent ภาษาแม่อยู่ (ฝรั่งเขาจะพูดกันว่า “You have an accent” อย่าไปเข้าใจผิดนะคะว่าเราพูดได้ accent ของเขา เขาหมายความว่า เรามี accent ภาษาไทยอยู่ ค่ะ) แต่ถ้ายิ่งอายุมากขึ้น ลิ้นเราก็จะแข็งค่ะ ก็ไม่สามารถที่จะเลียนแบบภาษาที่สองได้เท่าไหร่นัก ยิ่งอายุมากขึ้นก็เป็นไปได้ยาก ทำใมเขาถึงบอกว่าลิ้นเราแข็ง ก็เพราะว่า ภาษาแต่ละภาษามีตัวอักษรไม่เหมือนกัน การออกเสียงไม่เหมือนกัน เสียงในภาษาหนึ่ง อาจจะไม่มีในอีกภาษาหนึ่ง พอเราใช้ภาษาแม่ไปนานๆ แล้วอยู่ๆ จะมาเรียนภาษาที่สองเนี่ย ลิ้นเราก็ติดกับการพูดภาษาแม่ไปแล้ว อย่างเช่นคนไทยมักมีปัญหาในการออกเสียง th พูดยังไงก็ไม่ได้สักที ผิดทุกที ก็เป็นเพราะว่าในภาษาไทยไม่มีเสียง th ค่ะ เช่นคำว่า think เรามักจะออกกันว่า “ติ๊ง” ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ได้ เราต้องออกว่า “ธิ๊งค์” อะไรอย่างนี้เป็นต้นค่ะ
ข้อสอง การที่เราใช้ภาษาแม่เป็นประจำอยู่เสมอ แล้วเรามาพูดภาษาที่สอง เราก็จะติดกับการใช้คำ หรือการออกเสียงของภาษาแม่ ยิ่งเราพูดภาษาแม่มานานเท่าไหร่ หรือใช้บ่อยแค่ไหน ก็จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียน “เลียนเสียง” ของภาษาที่สองค่ะ ก็เป็นเหตุผลเดียวกันกับเรื่องลิ้นแข็งน่ะแหละค่ะ
ข้อสาม การเรียนภาษาที่สอง ก็คือการเลียนแบบการเรียนภาษาแม่ เราเรียนภาษาแม่ยังไง เราก็จะเอาวิธีนั้นมาใช้กับการเรียนภาษาที่สองโดยอัตโนมัติ แต่ภาษาแต่ละภาษาไม่เหมือนกัน วิธีการออกเสียงไม่เหมือนกัน ทำให้เรามีปัญหาในการออกเสียงกันเยอะ ว่าทำใม พูดไปแล้ว ฝรั่งเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพูด
ทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ก็คือสาเหตุค่ะ ว่าทำใมถึงพูดไม่ได้เหมือนเจ้าของภาษาสักที แต่วิธีการแก้ไขก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีนะคะ แต่เราจะต้องค่อนข้างจริงจังกับมันมากพอสมควร ก็พอจะช่วยได้ค่ะ
อย่าง แรกเลยก็คือต้องฝึกพูด ฝึกออกเสียงค่ะ ต้องเริ่มออกเสียงให้ถูกตั้งแต่พยัญชนะแต่ละตัว คำแต่ละคำ การลากเสียง การขึ้นเสียงสูง เสียงต่ำ การเน้นคำ พวกนี้ต้องอาศัยการฝึกค่ะ คำในภาษาอังกฤษมีอยู่หลายคำเหมือนกันที่คนไทยมีปัญหาในการออกเสียง อย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้วก็คือ ตัว th แล้วก็ยังมีตัว v, ch, sh, z, h, r ค่ะ ก่อนที่จะไปฝึกพูดเป็นคำๆ ให้เริ่มจากหัดออกเสียงพวกนี้ให้ถูกต้องเสียก่อน เวลาไปออกเสียงเป็นคำๆ ก็จะออกเสียงได้ง่ายขึ้น และถูกต้องขึ้นค่ะ
ข้อสอง ฝึกพูดบ่อยๆ แต่เราอยู่เมืองไทยก็จะเจอปัญหาที่ว่า จะไปพูดกับใครล่ะ ไม่มีคนให้ฝึกพูดด้วยเลย วิธีแก้ก็อาจจะเช่น เวลาเราถามทางว่าจะไปไหน เราก็ฝึกคิดกับตัวเองก่อน ว่า เอ... ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ จะต้องพูดว่ายังไงนะ ฝึกคิด ฝึกพูดให้ชินค่ะ แล้วมันจะค่อยๆ มาเอง แต่อาจจะช้าหน่อยนะคะ ต้องใจเย็นๆ ค่ะ
ข้อสาม ศึกษาพวกสำนวน (idiom) หรือ สแลง (slang)ต่างๆ ที่ฝรั่งเขาใช้กัน พวกนี้ก็จะทำให้การใช้ภาษาอังกฤษของเราดีขึ้น ดีขึ้นตรงนี้หมายความว่า “ใช้ภาษาเป็น”ค่ะ เราสามารถศึกษาคำพวกนี้ได้จากสื่อหลายอย่าง จากหนัง จากนิตยสาร จากวิทยุ ฟังแล้วก็จดๆ มา แล้วก็ฝึกแต่งประโยคด้วยตัวเอง
ข้อสี่ คำศัพท์เท่านั้นที่ช่วยได้ค่ะ ปัญหาอีกอย่างที่พบก็คือ เวลาจะพูด จะนึกไม่ออกว่าต้องพูดยังไง ต้องใช้ศัพท์คำไหน อันนี้เป็นเพราะว่า เรารู้ศัพท์น้อย หรือ อาจจะรู้คำศัพท์ แต่ไม่ค่อยได้ใช้ เราก็จะลืม และก็จะนึกไม่ออกเวลาใช้ค่ำ ยิ่งรู้ศัพท์มาก ยิ่งได้เปรียบค่ะ อ้อ แต่เวลาเราจำศัพท์ ควรจำเป็นวลีนะคะ (phrases) จะทำให้เราจำได้ง่ายขึ้นจากการจำเป็นคำศัพท์เดี่ยวๆ ไว้จะมาเขียนเรื่องวิธีการจำคำศัพท์อีกหัวข้อนึงเลยละกันนะคะ เพราะมีรายละเอียดอยู่หลายอย่างเหมือนกัน
เทคนิคการจำคำศัพท์
คำ ศัพท์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการเรียนภาษา ยิ่งรู้ศัพท์มาก ยิ่งได้เปรียบ เพราะคำศัพท์เป็นเหมือนเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการสื่อสารของคนเรา วิธีการเรียนคำศัพท์มีหลายวิธีค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนใช้วิธีไหน ก็เอามารวบเรียง เรียบเรียง จากที่รู้มา และได้อ่านเจอมา สรุปเป็นข้อๆ ดังนี้ค่ะ
1. จำเป็นกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกัน (vocabulary tree) อย่างเช่น กลุ่มคำศัพท์เกี่ยวกับห้องเรียน เราก็ต้องลิสต์ออกมาเลย ว่าในห้องเรียนน่าจะมีคำว่าอะไรบ้าง เช่น chalk, blackboard, eraser, highlighter (pen), audiocassette, file, briefcase, textbook, notebook, pencil sharpener, briefcase, overhead projector. เป็นต้นค่ะ วิธีนี้ก็จะเป็นการช่วยขยายคำศัพท์ของเราได้มากขึ้นด้วย
2. จำรูปแบบของคำ ที่เรียกว่า word formation เช่น account เป็น verb, เราก็ต้องรู้ด้วยว่า ถ้าเป็น noun จะต้อง เป็น accountant, หรือถ้าเป็น adjective จะต้องเป็น accountable การจำแบบนี้ก็ช่วยทำให้จำได้ง่ายขึ้นเหมือนกันนะคะ เพราะมีรากศัพท์คำๆ เดียวกัน แต่พอมาทำเป็น verb มีความหมายแบบหนึ่ง พอคำๆ เดียวกัน เปลี่ยนมาเป็น noun ก็มีความหมายเปลี่ยนไปอีก วิธีนี้จะช่วยให้เราขยายวงศัพท์ได้มากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ
3. จำศัพท์เป็นวลี (phrases) หรือจำเป็นประโยคไปเลย จะช่วยทำให้จำได้ง่ายกว่าจำเป็นคำๆ เพราะเวลาเราจำเป็นคำๆ บางทีจะเอามาใช้ เราก็ลืมความหมาย หรือเอามาใช้ไม่เป็น แต่พอเราจำเป็นวลี จะช่วยได้ตรงที่ เราสามารถนำมาใช้ได้ถูกต้องด้วยค่ะ
เช่น advantage แปลว่าประโยชน์
แต่พอเวลาเราจะเอามาใช้ว่า เขา มาเพื่อหวังเอาผลประโยชน์จากเธอ เราก็จะเริ่มมึนๆ ว่าเอ จะเขียนยังไงดี แต่ถ้าเราจำว่า take an advantage of (somebody/something) เราก็จะเขียนได้ง่ายขึ้น ว่า He takes advantages of her. หยิบมาใส่ได้ทันทีเลย (ได้ยินมาว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ฝรั่งเขาใช้ในการเรียนคำศัพท์ใหม่ๆ ค่ะ)
4. ทำ vocabulary card โดยใช้กระดาษแผ่นเล็กๆ ขนาด 3”x5” 1 แผ่น ต่อ 1 คำศัพท์ อย่างเช่น เราจะทำคำว่า abstract ละกัน เราก็เขียนคำศัพท์, ความหมายของคำ, part of speech (noun, verb, adv, etc.) การออกเสียง และก็ตัวอย่างประโยคค่ะ และก็แต่งประโยคเองโดยใช้คำศัพท์ที่เพิ่งเรียนมาอีก 1 ประโยคค่ะ ถ้ามี synonym/antonym ด้วยก็เพิ่มไปได้เลยค่ะ คือ ใส่อะไรได้ ใส่ไปให้หมดเลย
ตัวอย่างการ์ดคำศัพท์-ด้านหน้า
ตัวอย่างการ์ดคำศัพท์ – ด้านหลัง
5. collocation คำที่มักใช้คู่กันเสมอกับคำศัพท์นั้นๆ เช่น collocation ของ take และ have
take notes; take an advantage of; take a chance
have a headache; have breakfast; have a problem
6. จำเป็นภาพ วิธีนี้ตัวผู้เขียนก็ใช้บ่อยค่ะ เวลาเจอคำศัพท์ที่ยากจะอธิบาย หรือจำเป็นกลุ่มคำหลายคำแล้วมันเกิดอาการสับสน ก็จะใช้วิธีเป็นภาพ แล้วหลับตานึกคำศัพท์ และก็ภาพตาม วิธีนี้ก็ช่วยได้ค่ะ เช่นคำว่า taciturn แปลว่า เงียบขรึม พูดน้อย เฮ่ออ จะจำยังไงดี ก็นึกเลยว่ามีเพื่อนคนไหนมีบุคลิกแบบนี้บ้าง พอเจอปุ๊ป หน้าเขาลอยมา ก็เอาคำว่า taciturn ประทับเอาไว้เลย พอคราวหลังมาเจอศัพท์คำนี้อีก หน้าเพื่อนคนนี้ก็จะลอยมาตลอดเลยค่ะ แต่ก็ได้ผล จำคำศัพท์นี้ได้ไปเลย
7. เรียน prefixes, suffixes และ roots ของคำศัพท์ prefixes และ suffixes นี้ ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า affixes ค่ะ( affixes คือการนำคำมาผสมคำในคำศัพท์ ถ้าวางไว้หน้าคำศัพท์คือ prefixes/ วางไว้หลังคำศัพท์เรียกว่า suffixes )การรู้ affixes ของคำศัพท์จะช่วยเราได้เมื่อไปอ่านเจอคำศัพท์ที่ไม่รู้จักและสามารถช่วยเรา เดาคำศัพท์ใหม่ได้ด้วย ยกตัวอย่าง คำว่า autobiography ลองดูคำศัพท์นี้ดีๆ นะคะ ศัพท์คำนี้สามารถแยกออกมาเป็นคำๆ เป็น prefixes และ suffixes ได้ตามนี้ค่ะ
auto/bio/graph/y
Auto แปลว่า self, bio แปลว่า life, graph แปลว่า write,
y เมื่อนำมาเติมท้ายคำจะแปลว่า the result of
พอนำความหมายของทุกตัวมารวมกัน ก็จะแปลได้ว่า the result of writing about one’s own life.
จริงๆ แล้ว suffixes ยังมีประโยชน์ตรงที่ ช่วยบอกได้ว่า คำๆ นั้นทำหน้าที่เป็นอะไรใน part of speech ได้อีกด้วย เช่น ถ้าเรารู้ว่า suffixes เช่น -ence, -or, -er, -ment, -ist, -ism, -ship, -sion, -ness, -hood, -dom เมื่อนำมาเติมท้ายคำศัพท์จะทำให้คำๆ นั้นเปลี่ยนหน้าที่เป็น Noun ใน part of speech ค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น คำว่า write เป็น verb พอเอา suffix –er มาเติมท้าย ก็จะกลายเป็น Noun. เป็นไงคะ affixes มีประโยชน์จริงๆ ค่ะ
จะ ใช้วิธีไหน ก็ลองเลือกๆ ดูตามความถนัดนะคะ หรือจะใช้ผสมๆ กันก็ดีค่ะ เพราะแต่ละวิธีก็มีแต่ข้อดีๆ ทั้งนั้น ทีนี้เราก็สนุกกับการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้แล้วค่ะ
Learning Styles คุณมีสไตล์การเรียนรู้แบบไหน
เพราะว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราไม่หมือนใคร และไม่มีใครเหมือนเรา ดังนั้นวิธีการเรียนรู้ก็เป็นเรื่องที่เฉพาะตัวเช่นกันค่ะ
ใน วงการการศึกษา ตอนนี้เขาตื่นตัวกันมากเกี่ยวกับเรื่อง Learning styles มากกว่าเรื่องของ I.Q. อีกนะคะ เพราะว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์เรา ว่าเรามีกระบวนการรับข้อมูลใหม่ๆ และมีกลยุทธ์ในการเรียนอย่างไรบ้าง เนื่องจากสไตล์การเรียนรู้ของคนเรา ส่งผลโดยตรงต่อสิ่งที่เรียนค่ะ มีนักวิจัยหลายท่านได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น เขาเชื่อว่า หากผู้เรียน รู้สไตล์การเรียนของตนเอง และเข้าใจวิธีการรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับตนเองก็จะทำให้เราเรียนหนังสือได้ดีขึ้น คือ จดจำสิ่งที่เรียนได้ดีขึ้นนั่นเอง และถ้าผู้สอนรู้สไตล์การเรียนของผู้เรียน และนำมาปรับใช้ในการสอน ก็จะสามารถป้อนข้อมูลให้กับผู้เรียนได้ตรงจุด และผู้เรียนก็จะเกิดการรับรู้ได้ดี
ทฤษฎีการเรียนรู้มีหลายทฤษฎีค่ะ อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้คิดค้น แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะคล้ายๆ กัน แตกต่างกันบ้างในรายละเอียดและการจัดหมวดหมู่ ที่ดังๆ ก็คือ Kolb’s Learning Style Inventory (LSI) , The Myers-Briggs Type Indicator, Felder-Silverman Learning Style Model และก็อีกหลายทฤษฎีการเรียนรู้
วันนี้ ขอเอาทฤษฎีของ Felder-Silverman Learning Style Model (Index of Learning Styles –ILS) มาเล่าให้ฟังละกันนะคะ ว่าเขาแบ่งการเรียนรู้ของคนเราเป็นยังไง ลองอ่านแล้วนึกภาพตามนะคะ แล้วลองคิดเล่นๆ ว่าเรามีสไตล์การเรียนรู้เป็นแบบไหน
ทฤษฎีนี้แบ่งสไตล์การเรียนรู้ออกเป็น 8 ประเภทหลักค่ะ
1. Active – Reflexive
Active คือลักษณะผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการได้ทำกิจกรรมกับสิ่งที่เรียนรู้ คือ learn by doing นั่นเอง ชอบการทำงานกลุ่ม เช่น group discussions, ชอบอธิบายรายละเอียดให้ผู้อื่นฟัง และชอบแก้ปัญหาค่ะ
Reflexive คือ ผู้เรียนที่ชอบใช้เวลาคิดกับตัวเอง เวลาได้รับรู้ข้อมูลอะไรใหม่ๆ จะนำมาคิดประมวลผลกับตัวเองก่อน คือ พอตัวเองทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียนมาได้แล้วถึงจะเข้ากลุ่มสนทนากับผู้ อื่น หรือลงมือทำ ผู้เรียนลักษณะนี้ชอบแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เรียนรู้จากการวิเคราะห์ ชอบทำงานเดี่ยว (จากที่ทำงานวิจัยมา พบว่า ผู้ที่มีลักษณะการเรียนรู้แบบนี้ เรียนหนังสือเก่งมากค่ะ)
2. Sensory - Intuitive
Sensory คือผู้เรียนที่ชอบหัวข้อเรียนที่เป็นข้อเท็จจริง นำมาทดลอง ปฏิบัติได้จริง และข้อมูลที่เรียนนั้นสามารถนำมาเชื่อมโยงได้กับเรื่องอื่นๆ หรือวิชาอื่นๆ ได้ ผู้เรียนประเภทนี้ชอบแก้ปัญหาโดยใช้เครื่องมือที่ถูกออกแบบมาแล้วเป็นอย่าง ดี ไม่ชอบอะไรที่สลับซับซ้อน และไม่ชอบการถูกเซอร์ไพรส์
Intuitive คือ ผู้เรียนที่ชอบหัวข้อเรียนที่เป็นแนวความคิด นวัตกรรมใหม่ๆ และข้อมูลทฤษฎีต่างๆ เป็นคนที่ทำอะไรได้รวดเร็ว และไม่ชอบการทำอะไรซ้ำๆ ที่เป็นลักษณะ routine ไม่ชอบการคำนวน และก็ไม่ชอบการท่องจำ
3. Visual – Verbal
Visual คือ ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากรูปภาพ (คือ เห็นภาพแล้วจำได้ดีกว่า อ่านตำราที่เป็นเอกสาร) เขาจะเข้าใจสื่อการเรียนประเภท รูปภาพ, กราฟ, ไดอะแกรมได้ดี เรียกว่า ถ้าได้เห็นแล้วล่ะก็ เข้าใจและจำได้ดีเลยล่ะค่ะ (จากที่อ่านมา พบว่าคนที่เรียนวิศวกรรมส่วนใหญ่ จะมีทักษะ หรือพฤติกรรมการเรียนด้วยภาพสูงมากค่ะ สูงถึง 80-90% เลยทีเดียว)
Verbal คือ ลักษณะผู้เรียนที่ชอบฟังอาจารย์พูดเลคเชอร์ให้ฟังในห้องเรียน หรือชอบอ่านตำราเอง เพราะเขาจะเข้าใจได้ดีจากคำอธิบายที่เป็นคำพูด ลักษณะแบบนี้ ก็ประเภท เวลาไปคุยอะไรกับใครมา ใครพูดอะไร จะจำคำพูดเขาได้น่ะค่ะ ประเภท นึกข้อมูลออกมาเป็นเสียงกันเลยทีเดียว
4. Sequential – Global
Sequential คือผู้เรียนที่ชอบลักษณะการเรียนแบบเป็นขั้นเป็นตอน เป็นหัวข้อๆ ไล่ลงมา พอเขาได้ข้อมูลมาหมด เขาก็จะมองเห็นภาพใหญ่ได้เลยว่าเรื่องที่เรียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่ผู้เรียนประเภทนี้จะมีปัญหาในการเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้มา กับเรื่องอื่นๆ ที่เป็นคนละหัวข้อ
Global คือผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีด้วยการเข้าใจภาพรวมของเรื่องที่เรียนก่อน พอเข้าใจแล้วก็จะโยงประเด็นย่อยๆ ออกมาได้จากเรื่องนั้นๆ ลักษณะผู้เรียนประเภทนี้มีความสามารถในการปะติปะต่อข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน
พอ นึกภาพออกหรือยังคะ ทีนี้ถ้าเราเข้าใจตัวเอง ว่าเรามีพฤติกรรมการเรียนแบบไหน แล้วนำมาปรับใช้ได้ จะทำให้เราเข้าใจเรื่องที่เรียน และจำข้อมูลที่ได้เรียนมาได้ค่อนข้างแม่นทีเดียว
การที่เราจะรู้ได้ ว่า เราเป็นคนมีสไตล์การเรียนแบบไหน ก็ต้องทำ questionnaire ค่ะ ถึงจะประมวลออกมาได้ชัดเจน ไม่มีใครหรอกค่ะ ที่จะมีสไตล์การเรียนเป็นแบบเดียว ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นแบบผสมๆ กันไป แต่อาจจะมีลักษณะแบบใดแบบหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่น
ไว้คราวหน้าจะเอา questionnaire มาให้ลองทำกันสนุกๆ ค่ะ พร้อมกับข้อชี้แนะสำหรับผู้มี learning styles ในแต่ละรูปแบบว่าจะพัฒนาการเรียนของเราได้อย่างไรบ้าง