อ่านคำพิพากษาย้อนหลังอย่างน้อย5ปี จะครอบคลุมถึงฏีกาเก่าทั้งหมด
อ่านเนื้อหาให้เข้าใจ ทั้งย่อสั้นและย่อยาว
การหมั้น
1. เป็นข้อตกลงระหว่างชายกับหญิง (ฎ. ชายโดยกำเนิดที่ได้รับการผ่าตัดทางเพศจะหมั้นกับชายไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องที่จะมาใช้สิทธิทางศาลโดยชอบ นอกจากนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยถึงคำนิยามคำว่าหญิง หมายถึง หญิงที่คลอดบุตรได้ ) แต่ในต่างประเทศ เขารับรองให้เพศเดียวกันหมั้นกันแต่งงานกันได้ แต่เมืองไทยไม่ใช่ เมืองไทยมีกฎหมายรับรองเฉพาะเพศตรงข้ามเท่านั้น เพศเดียวกันจะหมั้นกันไม่ได้
2. การหมั้น จะต้องมีการตกลงว่าจะสมรสกันตามกฎหมาย ( ฎ. การที่ตกลงกันว่าจะอยู่กินกันฉันสามีภรรยา โดยไม่ได้ตกลงว่าจะต้องทำการสมรสกันตามกฎหมายนั้น ถือว่าไม่ใช่การหมั้น การหมั้นจะต้องจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายด้วย มิใช่เพียงจัดงานแต่งงานตามประเพณีอย่างเดียว) ดังนั้น จึงไม่สามารถนำบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการหมั้นไปใช้ได้เลย
3. ต้องกระทำด้วยความสมัครใจ ( หากกระทำการหมั้น เพราะถูกข่มขู่ หรือฉ้อฉล หรือไม่สมัครใจแล้ว ก็จะเป็นโมฆียะ) การหมั้น เป็นการทำนิติกรรมโดยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิทธิในอนาคต ก็คือการสมรส จะนำหลักเกณฑ์ทั่วไปของนิติกรรม มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะมันไม่เหมือนกัน ฎ. ฝ่ายชายฉ้อฉลฝ่ายหญิงว่า สำเร็จการศึกษา ฝ่ายหญิงหลงเชื่อ ต่อมา ทราบความจริงว่า ฝ่ายชายไม่ได้สำเร็จการศึกษา จึงบอกล้าง ดังนั้น ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็จะกลับคืนสู่สถานะเดิม ของหมั้นที่ได้มาก็ต้องส่งคืนกลับไป แต่ถ้าวินิจฉัยว่า การบอกล้างของฝ่ายหญิงเป็นสิทธิ และเหตุบอกล้าง เป็นสาระสำคัญของการหมั้น ดังนั้นของหมั้นที่ได้มา ฝ่ายหญิงก็ไม่จำต้องคืนให้ฝ่ายชาย
คู่หมั้น หมายความถึง ชายและหญิงที่หมั้นกัน คู่สัญญาหมั้น หมายความว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองของฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ฝ่ายชาย เป็นธุระชายไปทำพิธีสู่ขอและหมั้นฝ่ายหญิง ดังนี้ก็จะถือว่า พ่อแม่ฝ่ายชายเป็นคู่สัญญาหมั้นด้วย แต่ถ้าฝ่ายชายไปหมั้นฝ่ายหญิงเอง โดยไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองไปด้วย พ่อแม่ฝ่ายชายก็ไม่ใช่คู่สัญญาหมั้น ในข้อนี้ก็จะเป็นการพิจารณาผู้รับผิด ในการฟ้องเรียกค่าทดแทน
การหมั้นโดยการคลุมถุงชน ตั้งแต่ชายหญิงยังเป็นเด็ก ถือว่าเป็นโมฆะ เพราะคู่หมั้นอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จึงไม่มีผลผูกพันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงแต่อย่างใด แต่ระหว่างพ่อแม่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงให้บังคับด้วยกฎหมายทำนิติกรรมทั่วไป ไม่ใช่ความรับผิดในเรื่องของการหมั้น
4. การหมั้นจะต้องมีของหมั้น ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการหมั้น เมื่อไม่มีของหมั้น แต่ได้ตกลงกันด้วยวาจาว่าจะทำการสมรสกัน แต่เมื่อฝ่ายชายตระเตรียมงานไว้แล้ว หากหญิงปฏิเสธที่จะสมรสด้วย ฝ่ายชายก็จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย หรือฟ้องให้จดทะเบียนสมรสไม่ได้เลย
5. การหมั้นจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคู่สมรสอยู่แล้ว เป็นโมฆะหรือไม่ ตามความเห็นของอาจารย์ถือว่าไม่เป็นโมฆะ เพราะฝ่ายหญิงไม่ทราบว่าฝ่ายชายมีคู่สมรสอยู่แล้ว แต่เมื่อฝ่ายหญิงรู้ความจริงว่าฝ่ายชายมีคู่สมรสอยู่แล้ว ฝ่ายหญิงก็จะต้องอ้างเหตุอันสำคัญในการบอกเลิกสัญญา แต่ถ้าฝ่ายหญิงไม่สนใจ จะสมรสกับฝ่ายชายให้ได้ เมื่อสมรสกันแล้ว ถือว่า การสมรสเป็นโมฆะ แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างใช้สิทธิไม่สุจริต โดยรู้อยู่แก่ใจว่าต่างฝ่ายต่างมีคู่สมรสอยู่แล้ว ก็จะมาใช้สิทธิทางศาลไม่ได้เช่นกัน จะมาอ้างสัญญาหมั้นไม่ได้
ของหมั้น จะต้องเป็นทรัพย์สิน(ทั้งมีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง)ที่ฝ่ายชายส่งมอบให้กับฝ่ายหญิง ตามกฎหมายไทย ไม่ได้มีการกำหนดว่า ราคาเท่าไหร่ จะมีราคามากน้อยขึ้นอยู่กับฐานะ
ฎ.3364/2537 แม้สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินจะมีลายมือชื่อโจทก์ลงไว้ในช่องผู้จะซื้อ คู่กับลายมือชื่อของจำเลย แต่ข้อความตอนต้นของสัญญาระบุชัดว่าจำเลยเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้จะซื้อ ทั้งสัญญาฉบับดังกล่าวได้ทำขึ้นในวันเดียวกับวันที่โจทก์จำเลยทำพิธีหมั้น กันจึงเป็นเหตุผลน่าเชื่อว่าโจทก์ตกลงซื้อบ้านและที่ดิน และมอบสัญญาจะซื้อจะขายแก่จำเลยเป็นของหมั้นในวันทำพิธีหมั้นด้วยมิฉะนั้น แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินในนามของจำเลยและ ไม่มีความจำเป็นต้องทำสัญญากันในวันหมั้น ต่อมาเมื่อบ้านก่อสร้างเสร็จก็ได้มีการโอนบ้านและที่ดินเป็นชื่อจำเลยถือ กรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นการโอนที่สืบเนื่องโดยตรงจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำกันใน วันหมั้นนั้นเอง จึงฟังได้ว่าบ้านและที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์ที่โจทก์มอบแก่จำเลยเป็นของ หมั้นในวันหมั้น
ของหมั้น เช่น ให้รถยนต์ ที่ดิน ( ที่ดินน.ส.3 ก็สามารถโอนสิทธิ์ให้แก่ฝ่ายหญิงได้หรือ ที่ดินมือเปล่าก็สามารถจดทะเบียนให้กันได้โดยการโอนสิทธิครอบครอง คือ ต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่ฝ่ายหญิง แต่การให้ฝ่ายหญิงถือโฉนดที่ดิน ไม่ถือว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงถือว่าเป็นของหมั้นไม่ได้)
ของหมั้น ถ้าเป็นของฝ่ายชายเองก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของฝ่ายชาย เช่น สัญญากับพ่อแม่ฝ่ายหญิงว่าจะนำทองคำ 10 แท่งมาหมั้นฝ่ายหญิง ชายไปขโมยทองคำจากร้านทองมาหมั้นหญิงได้ทันเวลา ถามว่าการหมั้นระหว่างชายและหญิงคู่นี้สมบูรณ์มั้ย ต้องดูที่กรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินนั้น ชายไปลักขโมยทองคำเขามา แม้ว่า กรรมสิทธิ์ในทองจะมิใช่ของฝ่ายชาย กรรมสิทธิ์ยังเป็นของร้านทองในการติดตามเอาทรัพย์สินของตัวเองกลับคืนตามม.1336 การกระทำความผิดของฝ่ายชาย เป็นความผิดทางอาญา แต่การส่งมอบทรัพย์สินแก่ฝ่ายหญิง ได้กระทำอย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว การหมั้นมีความสมบูรณ์ กรณีนี้ หากถูกเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง ติดตามเอาทรัพย์สินนั้นคืน หญิงก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้น โดยมีเหตุอันสำคัญแก่ชายคู่หมั้นได้ ตามม.1443 แต่หญิงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากชายคู่หมั้น เพราะถือว่าการกระทำฝ่ายชายเป็นการกระทำประพฤติชั่วก่อนการหมั้น การจะเรียกค่าทดแทนตามม.1444 จะต้องเป็นการกระทำผิดหลังจากที่มีการหมั้นไปแล้ว
กรณีที่ไม่ได้มีการส่งมอบให้แก่ฝ่ายหญิง ชายตกลงจะมอบเงินให้แก่ฝ่ายหญิงเป็นจำนวน 100,000 บาท ชายมีจำนวนเงินในบัญชีเงินฝาก แต่เนื่อจากถูกอายัดบัญชีเงินฝาก จึงทำสัญญากู้ให้ฝ่ายหญิง สัญญากู้ไม่เป็นสัญญาหมั้น เพราะไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินแก่ฝ่ายหญิง ดังนั้นฝ่ายหญิงจะไปฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่มี เพราะไม่มีมูลหนี้ซึ่งกันและกัน และหากนำมาเปรียบเทียบกับ สินสอด จะมีความแตกต่างกัน สินสอดเป็นสิ่งตอบแทนที่ฝ่ายหญิงยอมสมรสกับฝ่ายชาย ต่อมา หากชายเบี้ยว ไม่จ่ายเงินตามสัญญากู้ หรือผิดข้อตกลง บิดามารดาหญิงย่อมมีสิทธิ์ฟ้องเรียกสินสอดได้ตามข้อตกลง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ของหมั้นกับสินสอด ไม่ได้มีความเกี่ยงข้องซึ่งกันและกัน สามารถแยกออกจากกันได้ เราต้องพิจารณาแยกกัน( สินสอด บังคับได้แม้ไม่มีการส่งมอบ)
กรณที่ไม่มีเจตนาในการส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันอย่างแท้จริง เช่น เอ ตกลงหมั้นกับ บี จำนวนเงิน50,000บาท แต่เนื่องจากเกรงว่า จะโดนสังคมดูถูก ว่า เอ ฐานะไม่ดี หรือ ฝ่ายเอกลัวบิดามารดาบีจะรังเกียจลูกเขย เลยทำเจตนาลวงกับบีว่า จะยืมเงินจากเพื่อน หมั้นเสร็จแล้วจะคืน ดังนั้นของหมั้นจริงๆๆแล้วคือ เงิน50,000บาท นอกนั้นไม่ใช่ของหมั้น แต่การหมั้นสมบูรณ์ หมั้นแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องคืนในจำนวนที่ยืมมา และถ้าเอกับบี สมรู้กันว่า จะไม่รับของหมั้นหรอก แต่ให้เอไปหาทรัพย์สินมาหมั้นบี ในจำนวนทั้งหมดเลย เช่นนี้ ถือได้ว่าทรัพย์ที่หามานั้น ไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่มีเจตนาส่งมอบให้แก่ฝ่ายหญิง เป็นการตั้งโชว์หลอกๆๆแล้วส่งคืน การหมั้นไม่เกิด หากต่อมา เอไม่ยอมสมรสกับบี บีจะฟ้องเอ ในฐานผิดสัญญาหมั้นไม่ได้
ฎ.8954/2549 การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นหรือ ไม่ จะต้องฟังให้ได้เสียก่อนว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 หรือไม่ เพราะการหมั้นตามกฎหมายนั้นต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย มิใช่เมื่อมีการมอบของหมั้นแล้ว ก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437
ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นได้
ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองจะคืนเงินสดและทองรูปพรรณ ที่ใช้ในพิธีหมั้นให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงาน ดังนั้น เงินสดและทองรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาแสดงในวันหมั้น เพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทั้งสองฝ่ายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงานจึงเป็นการส่งคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง มิใช่การฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน
กรณีที่มีการตกลงว่าจะส่งมอบทรัพย์สินกัน ทรัพย์ไหนที่โอนให้แก่กัน ทรัพย์นั้นเป็นของหมั้น ส่วนของที่บอกว่าจะส่งมอบต่อไปหรือจะไปโอนให้นั้น ยังไม่ฐานะเป็นของหมั้น ตามแนวฎีกาโบราณ ฝ่ายหญิงจะมาฟ้องเรียกของหมั้นไม่ได้ เช่น เอ ตกลงให้ของหมั้น บี เป็นเงิน50,000 บาท บวกด้วยทองคำแท่งหนัก 10 บาท เอ มอบเงินสดให้ ส่วนทองคำนั้น เอยังไม่ได้มอบ เมื่อถึงวันพิธีสมรส ฝ่ายหญิงทวงถาม ชายก็ยังไม่ส่งมอบให้ กรณีนี้ต้องมองต่อไปว่า เมื่อฝ่ายชายไม่ยอมส่งมอบให้ตามสัญญา แสดงว่าชายก็อยู่ในฐานะผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ เมื่ออยู่ในฐานะที่ไม่อาจเชื่อถือได้ หากสมรสต่อไป ชีวิตครอบครัวคงจะไม่ราบรื่น ดังนั้น จึงเป็นเหตุอันสำคัญอันเกิดแก่ชาย หญิงจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ และเงิน50,000 บาท ที่ได้รับมาแล้วนั้น ไม่จำเป็นต้องคืน ตามม.1443
ของหมั้นไม่จำเป็นต้องเป็นของฝ่ายชาย จะเป็นของใครก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่การตั้งโชว์เฉยๆๆ และไม่หมายความรวมถึงเป็นทรัพย์ของหญิงเอง เช่น บีเห็นว่า เอมีฐานะยากจน จึงให้แหวนของตน เพื่อให้เอนำมาเป็นของหมั้น ต่อหน้าพ่อแม่ของบีและแขกเหรื่อมากมาย ดังนั้น ทรัพย์ดังกล่าว จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะขาดองค์ประกอบอันสำคัญ ในเมื่อ ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของหญิง ก็เท่ากับไม่มีอะไรเลย ที่จะส่งมอบให้แก่หญิง การหมั้นจึงไม่เกิด ไม่มีผลแต่อย่างใด
ของหมั้นคือหลักฐานว่าจะสมรส จะต้องมีเจตนาตรงกันว่าจะสมรสตามป.พ.พ.หรือถ้าอยู่ต่างประเทศ จะต้องจดทะเบียนที่กงสุลหรือสถานทูต ถ้าปรากฏว่า เอ พา น.ส.บีหลบหนีไป ต่อมา เอ ก็พา บีมาขอขมาพ่อแม่ฝ่ายหญิง และตกลงว่าจะมอบทรัพย์สินแก่หญิง เพื่อจะอยู่ด้วยกันฉันท์สามีภรรยา ดังนั้น การกระทำของฝ่ายชายดังกล่าว ไม่ใช่การหมั้น แต่เป็นเพียงการมอบทรัพย์สินให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเท่านั้น ทางตรงกันข้าม หญิงมอบทรัพย์สินให้แก่ชายเพื่อจะทำการสมรสกันในภายภาคหน้า การที่หญิงมอบทรัพย์สินให้ชาย ไม่ถือว่าเป็นของหมั้น แต่เป็นการให้โดยเสน่หา การที่ฝ่ายชายมอบทรัพย์สินให้หญิงโดยมีเจตนาทำการสมรส แต่ในกรณีที่ชายมีอายุไม่ครบ17 ปีบริบูรณ์ ก็ย่อมตกเป็นโมฆะตามม.1535 ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้ฝ่ายหญิงไปก็ย่อมจะเรียกคืนได้ ตามหลักลาภมิควรได้ เว้นแต่ ชายรู้อยู่แล้วว่าหญิงอายุไม่ครบ17ปีบริบูรณ์ เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ ชายจึงไม่สามารถเรียกคืนได้
ฎ.3072/2547(ประชุมใหญ่) ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
ผลของการหมั้น คือ ของหมั้นตกเป็นทรัพย์สินของหญิง ตามม.1437ว.2 เมื่อทำการสมรสแล้ว ทรัพย์สินนั้นก็เป็นสินส่วนตัวของหญิง แต่ทรัพย์สินที่หญิงให้แก่ชาย ก็เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายชาย คือ ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรส
เรื่องคืนสินสอดหรือไม่คืน สินสอดมีข้อแตกต่างจากของหมั้น โดยฝ่ายชายไม่จำเป็นต้องส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงทันที เช่น อาจจะตกลงกับพ่อแม่ฝ่ายหญิงว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ในวันที่ทำการสมรส หากมีพิธีสมรสแล้ว ฝ่ายชายไม่ยอมมอบทรัพย์สินให้ พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็สามารถฟ้องเรียกเอาทรัพย์ซึ่งเป็นสินสอดจากฝ่ายชายได้ ต่างจากของหมั้น ซึ่งหญิงไม่สามารถฟ้องเรียกเอาส่วนที่ยังไม่มีการส่งมอบไม่ได้ ในกรณีที่ฝ่ายชายตกลงจะมอบสินสอดให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงจำนวนเงิน100,000 บาทในวันสมรส แต่ปรากฎว่าก่อนวันที่จะทำการสมรส มีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชาย ซึ่งหญิงไม่สมควรจะสมรสด้วย หญิงจึงบอกเลิกสัญญาหมั้น ถามว่าบิดามารดาของหญิงจะสามารถเรียกค่าสินสอดจำนวนเงิน100,000 บาทจากฝ่ายชายได้หรือไม่? เรื่องการเรียกคืนนั้น หากฝ่ายชายมอบสินสอดให้แก่ฝ่ายหญิงแล้ว ก็มีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง เป็นเหตุที่หญิงจะต้องรับผิดชอบ และให้ชายไม่สมควรจะสมรสด้วย ฝ่ายชายก็เรียกสินสอดคืนได้ กรณีนี้เป็นกรณีที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ฝ่ายหญิงแล้ว แต่กรณีนี้ หญิงไม่ได้สมรสกับชาย เนื่องจากมีเหตุอันสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น อ.เห็นว่า การที่หญิงไม่ยอมสมรส ไม่ว่าเหตุนั้นจะเกิดจากฝ่ายชายหรือไม่ ฝ่ายชาย ถ้ายังไม่ยอมมอบสินสอดไป ฝ่ายชายก็ไม่จำเป็นจะต้องมอบสินสอด เพราะสินสอดเป็นการมอบตอบแทนที่ฝ่ายหญิงยอมสมรสด้วย แต่เมื่อชายมอบให้หญิงแล้ว ชายจะเรียกคืนได้หรือไม่นั้น เข้าขั้นตอนต่อไปว่า ถ้าไม่มีการสมรส เพราะมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง ชายเรียกคืนได้ ถ้าไม่มีการส่งมอบ ก็จะฟ้องบังคับไม่ได้
การให้สินสอด อาจทำก่อนการสมรส เช่น ในวันที่ทำการหมั้น หรืออาจให้ในวันที่มีการสมรสแล้ว
ฎ 878/2518 อันสินสอดนั้นตามกฎหมายเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้ แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสและเมื่อมีข้อตกลงจะให้สินสอดแก่กันแล้ว การให้สินสอดภายหลังการสมรสย่อมทำได้เพราะไม่มีอะไรห้ามซึ่งต่างกับของหมั้น อันจะต้องให้กันในเวลาทำสัญญาหมั้นคือก่อนสมรส
บิดามารดาโจทก์จัดให้โจทก์และ ว. ทำพิธีแต่งงานกัน และโจทก์เต็มใจยอมสมรสมารดาโจทก์ได้เตือนให้โจทก์และ ว ไปจดทะเบียนสมรส แต่ทั้งสองคนละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนโดยว่าจะไปจดวันหลังก็ได้ ครั้นอยู่ด้วยกัน 3 เดือนก็มีเหตุต้องเลิกร้างกันไปโดยไม่ได้จดทะเบียน ดังนี้จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวย่อมไม่ได้ ชายเรียกสินสอดคืนไม่ได้
จำเลยและ ว. บุตรชายตกลงหมั้นโจทก์และตกลงจะให้เงินจำนวนหนึ่งเป็นสินสอดแก่บิดามารดา โจทก์ในวันสมรส ถึงกำหนดจำเลยขอผัดให้เงินสินสอดภายหลัง มารดาโจทก์ยินยอมให้โจทก์แต่งงานกับ ว. เพื่อมิให้เสียพิธี แต่มิได้มีการจดทะเบียนสมรสกันหลังจากสมรสแล้วจำเลยขอทำสัญญากู้ให้มารดา โจทก์แทนเงินสินสอดที่ตกลงจะให้ มารดาโจทก์ต้องการเอาเงินนั้นให้โจทก์ จึงให้โจทก์ลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ในสัญญากู้ ดังนี้ แม้โจทก์กับ ว. จะมิได้จดทะเบียนสมรสกันแต่เมื่อการที่มิได้จดทะเบียนสมรสนั้น จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว ชายย่อมเรียกสินสอดคืนไม่ได้ สัญญากู้จึงมีมูลหนี้เนื่องมาจากเงินสินสอดอันเป็นมูลหนี้ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อบิดามารดาโจทก์ตกลงยกให้โจทก์ และจำเลยยินยอมทำสัญญากับโจทก์เพราะมูลหนี้นี้แล้ว จำเลยย่อมต้องถูกผูกพันให้รับผิดตามสัญญากู้ที่แปลงหนี้มานี้
สินสอดเป็นเรื่องที่ตอบแทนหญิงเมื่อหญิงยอมสมรส ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ตอบแทนพ่อแม่ฝ่ายหญิงยอมให้หญิงสมรส เป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น การตกลงจึงไม่จำเป็นต้องให้หญิงบรรลุนิติภาวะก็ได้ ฉะนั้น การตกลงกัน ในคราวที่หญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ และประสงค์จะให้มีการสมรสก่อนหญิงอายุครบ 17 ปี มีแนวคำพิพากษาฎีกาว่า การตกลงระหว่างฝ่ายชายกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง ไม่ใช่สินสอด เมื่อฝ่ายชายรู้ว่า หญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ก็เรียกคืนไม่ได้ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ
ฎ.4836/2536 การที่มีข้อตกลงระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยว่าเงิน100,000 บาท ฝ่ายจำเลยจัดหามาเพื่อแสดงในพิธีหมั้นแล้วฝ่ายโจทก์จะคืนให้ฝ่ายจำเลย เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่ใช่สินสอด เพราะไม่ใช่การให้เพื่อตอบแทนเมื่อหญิงยินยอมสมรส
บุคคลที่จะเป็นผู้รับมอบ สินสอด กฎหมายเขียนไว้ว่า ได้แก่ บิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้รับบุตรบุญธรรมของหญิง ฉะนั้น การให้ทรัพย์สินแก่บุคคลอื่นนอกจากที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ใช่สินสอด เช่น บิดามารดาถึงแก่ความตายตั้งแต่หญิงยังเยาว์วัย และอยู่ในความดุแลของพี่ชายโดยตลอด จนหญิงบรรลุนิติภาวะ ดังนั้น พี่ชายก็ไม่อยู่ในฐานะผู้ปกครอง เพราะหญิงบรรลุนิติภาวะแล้ว หากฝ่ายชายตกลงจะมอบให้พี่ชายของหญิง เมื่อฝ่ายชายบิดพลิ้ว พี่ชายก็ไม่สามารถฟ้องเรียกบังคับเอาได้ เพราะไม่ใช่บุคคลตามที่กฎหมายกำหนด กรณีที่เป็นบิดามารดาหญิงนั้น ก็ต้องเป็นบิดามารดาหญิงที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในกรณีที่บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายไปตกลงกับฝ่ายชาย โดยที่มารดาของหญิงไม่ได้รับรู้ด้วยนั้น ข้อตกลงดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันมารดาของฝ่ายหญิง หากฝ่ายชายเบี้ยว ตกลงจะให้แค่3,000 บาท โดยไม่ให้เต็มจำนวน มารดาหญิงก็สามารถฟ้องบังคับฝ่ายชายได้เต็มตามจำนวน ดังนั้น คำว่าบิดาตามม. 1437ว.3 นี้ หมายถึง บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
สินสอด ให้เพื่อเป็นการตอบแทนค่าน้ำนมในการเลี้ยงดูหญิงมา เป็นการตอบแทนหญิงที่หญิงยอมสมรสด้วย ไม่ใช่จากการที่พ่อแม่หญิงยอมให้ทำการสมรส
การที่ฝ่ายชายจะมอบทรัพย์สินให้ฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนที่หญิงจะอยู่กินกันฉันสามีภรรยาด้วย ไม่ใช่สินสอด แต่เป็นการตกลง เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง ที่สามารถบังคับกันได้ ดังนั้น เมื่อหญิงยอมอยู่กินกัน จัดพิธีสมรสแล้ว ถ้าฝ่ายชายบิดพลิ้ว ไม่ยอมที่จะมอบทรัพย์ให้ฝ่ายหญิง พ่อแม่ฝ่ายหญิง ชอบที่จะฟ้องได้ ขณะเดียวกัน ถ้าฝ่ายชายได้มอบทรัพย์สินให้แล้ว ก็ไม่สามารถเรียกคืนได้
ให้สินสอดไปแล้ว ถ้าไม่มีการสมรส ฝ่ายชายจะเรียกคืนได้หรือไม่? หลักก็คือ เมื่อฝ่ายชายมอบสินสอดให้บิดามารดาฝ่ายหญิงแล้ว และภายหลังไม่มีการสมรสเกิดขึ้น ฝ่ายชายเรียกคืนไม่ได้ ส่วนข้อยกเว้น ก็คือ จะเรียกคืนได้ก็ต่อเมื่อ 1. การที่ไม่สมรสนั้น มีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง และ 2. เป็นพฤติการณ์ที่หญิงนั้นจะต้องรับผิดชอบ ฎีกาปี 2518 กับ 2540 วางหลักไว้ว่า ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไม่สามารถจะสมรสกันได้ และฝ่ายชายให้สินสอดไปแล้ว และต่างฝ่ายต่างละเลยที่จะจดทะเบียนสมรส เช่น อยู่กินกัน ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสซะที ดังนี้ จะเรียกสินสอดคืนไม่ได้
เหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง ก็คือ เหตุที่ชายไม่สมควรจะสมรสแก่หญิง หมายถึง เหตุที่จะกระทบกระเทือนต่อการอยู่กินกันฉันสามีภรรยากันต่อไป เหตุสำคัญในมาตรา 1437 ว.3 จึงเทียบได้กับเหตุสำคัญในมาตรา 1442 ไม่ใช่เหตุสำคัญอันเกิดแก่บิดามารดาฝ่ายหญิงแต่อย่างใด
เหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงนั้น อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุคือ
1. เกิดจากการกระทำของหญิงเอง เช่น รับมอบสินสอดไปแล้ว แต่หญิงก็ไปจดทะเบียนสมรสกับชายอื่น ทำให้ชายไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับหญิงได้อีก เพราะจะเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน หรือ การที่หญิงประพฤติเสเพล กระทำความผิด ถูกศาลจำคุก เหล่านี้ เป็นการกระทำที่เกิดจากการกระทำของหญิงเอง ที่ชายไม่สมควรจะสมรสกับหญิง ดังนั้น แม้ชายให้สินสอดแก่พ่อแม่ฝ่ายหญิงไปแล้ว ชายก็สามารถเรียกคืนได้
2. เป็นเหตุที่เกิดขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ กรรมพันธุ์ เช่นเป็นโรคโลหิตจาง หากทำการสมรสต่อไปอาจทำให้บุตรที่เกิดมา สุขภาพไม่แข็งแรง หรือ มดลูกหญิงไม่แข็งแรง และไม่สามารถตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้ อันนี้ก็เป็นเหตุอันเกิดแก่หญิง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากหญิงเอง
3. เกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น เช่น ประสบอุบัติเหตุ(โดยคนอื่นเป็นคนขับ) จนเป็นเหตุให้พิการ ชายก็ถือเป็นเหตุอันสำคัญอันเกิดแก่หญิงได้ แต่ว่า เหตุนั้น ถ้าชายนั้นเองเป็นคนขับ ชายจะมาอ้างเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงไม่ได้ เข้าหลักว่า ฝ่ายชายไม่สุจริต
เป็นพฤติการณ์ที่หญิงนั้นจะต้องรับผิดชอบ
เช่น บิดาของหญิงถูกตำรวจจับข้อหาเฮโรอีน ถือว่าบิดาหญิง ทำความผิดทางอาญา ดังนั้น ฝ่ายชายก็เรียกคืนสินสอดกับบิดามารดาฝ่ายหญิง เรียกคืนได้มั้ย?? คำตอบคือเรียกไม่ได้ เพราะไม่ใช่เหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง แต่หากเป็นกรณีที่ หญิงขับรถชนชายเพราะหึงหวง และต้องการให้ชายบาดเจ็บเล็กน้อย แต่บังเอิญว่า ตกใจเลยเหยียบคันเร่งรถยนต์ เป็นเหตุให้ชายบาดเจ็บอย่างหนัก ดังนั้น การสมรส จึงเป็นไปไม่ได้ ฝ่ายชาย จึงสามารถเรียกสินสอดเอากับพ่อแม่ฝ่ายหญิงคืนได้ จะเห็นว่ากรณีนี้ เป็นกรณีที่ไม่มีการสมรส แต่หากมีการสมรส ไม่ว่าฝ่ายชายจะถูกข่มขู่ บังคับหรือเหตุอื่นใดหรือไม่ก็ตาม ฝ่ายชายก็จะเรียกสินสอดคืนไม่ได้
จะหมั้นกันได้ต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ( บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย อายุ 20 ปีบริบูรณ์) ถ้าอายุยังไม่ถึงเกณฑ์จะทำการหมั้นไม่ได้ และขออนุญาตศาลก็ไม่ได้เช่นกัน ต่างจากกรณีขออนุญาตศาลทำการสมรสกับผู้เยาว์ ถ้าการหมั้นฝ่าฝืนมาตรา 1435 การหมั้น ตกเป็นโมฆะ เงื่อนไขประการที่สองคือหลักของความยินยอม ยินยอมด้วยวาจาก็ได้ บุคคลที่ยินยอมให้ทำการหมั้น หรือการสมรส อาจจะเป็นคนเดียวกัน หรือคนละคนก็ได้ เช่น เอและบีจะหมั้นกัน เอไปขอความยินยอมจากพ่อแม่บี ต่อมา แดงไปขอรับจดทะเบียนบีเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อจะทำการสมรส จะต้องไปขออนุญาตแดงซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม ไม่ใช่พ่อแม่ของบี อีกกรณีหนึ่ง พ่อแม่ฝ่ายชาย ฉ้อฉลฝ่ายหญิง ต่อมาพอพ่อแม่ฝ่ายหญิงรู้ความจริงว่าถูกฉ้อฉล จึงไม่ให้ความยินยอม ทำอย่างนี้ อาจจะเข้าข่าย ผิดสัญญาได้ ทางแก้ก็คือ ต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น
ผู้ให้ความยินยอมตามกฎหมายคือ
1. บิดามารดา(ต้องชอบด้วยกฎหมาย) หากมีบิดาและมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย การยินยอมจะต้องได้รับความยินยอมทั้งสองฝ่าย หากได้รับความยินยอมฝ่ายเดียวถือว่าความยินยอมนั้นไม่สมบูรณ์
2. บิดาหรือมารดา กรณีที่บิดาหรือมารดาถึงแก่ความตาย(จะต้องเป็นการตายที่แท้จริง..ไม่ใช่การตายโดยสมมติ=ไม่รวมสาบสูญนั่นเอง) หรือเป็นกรณีที่บิดาหรือมารดาถูกถอนอำนาจปกครอง เป็นเรื่องที่ถูกศาลสั่งให้ถอนอำนาจปกครอง ตามม.1582 เป็นคนไร้ความสามารถ// ใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ// หรือ ไม่แน่นอนว่า บิดาหรือมารดา มีชีวิตอยู่หรือตาย(เข้าข่ายว่า เป็นบุคคลสาบสูญ) หรืออยู่ในฐานะที่ไม่อาจให้ความยินยอมได้ หรือไม่ทราบว่าบิดาเป็นใคร แต่การที่บิดามารดา แยกกันอยู่ ยังถือว่า อำนาจปกครองยังอยู่ครบทั้งบิดาและมารดา ก็ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งบิดาและมารดา แต่เมื่อมีผู้รับบุตรบุญธรรมแล้ว อำนาจปกครองจากบิดามารดาก็ย่อมหมดไป กรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมตาย อำนาจปกครอง ไม่กลับคืนไปสู่บิดามารดา แต่กฎหมายกำหนดไว้ว่า ให้บิดามารดาตั้งแต่กำเนิดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง จึงไม่ใช่ผู้ปกครองที่แท้จริง
3. ผู้ปกครอง อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งก็คือ ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้พิทักษ์ แต่ไม่รวมถึงผู้อนุบาล
//////////////////////////////////////////////////////////////////จบชั่วโมงแรก//////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น